จากการประกาศใช้ พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับปรับปรุง 2562 มาตั้งแต่ 20 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมานั้นสาระสำคัญประการหนึ่งของ พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ คือ การกำหนดให้รัฐสามารถจัดเก็บเงินค่าประกันภัยจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยและนำมาบริหารรูปแบบกองทุน
เคาะเก็บ 300 บาทต่อคน
ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติครั้งที่ 1/2564 เมื่อ14 มกราคมที่ผ่านมามีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 300 บาทต่อคน เพื่อสมทบเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายในการบริหารพัฒนาการท่องเที่ยว รวมถึงจัดให้มีการประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติระหว่างที่เดินทางท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทย
“พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รายได้ที่ได้จากการจัดเก็บทั้งหมดจะเข้ากองทุน จากนั้นจะนำส่วนหนึ่งทำประกันให้กับนักท่องเที่ยวทุกคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยคุ้มครองอุบัติเหตุ 5 แสนบาท และเสียชีวิต 1 ล้านบาท
โดยค่าธรรมเนียมดังกล่าวนี้ ทั่วไปเรียกกันว่า “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ซึ่งอัตราการจัดเก็บดังกล่าวนั้นเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น (Sayanara Tax) จัดเก็บ 1,000 เยน หรือประมาณ 300 บาทเช่นกัน
เก็บทันทีหลัง ครม.เห็นชอบ
พร้อมย้ำว่า ข้อดีของการเก็บค่าธรรมเนียมตาม พ.ร.บ.ใหม่ คือ ทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยมีกองทุนสำรองไว้ใช้เมื่อเกิดวิกฤต ยกตัวอย่างกรณีการแพร่ระบาดโควิดรอบนี้หากกองทุนมีเงิน 1-2 หมื่นล้านบาท จะทำให้สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวได้ทันที เป็นต้น
“รมต.พิพัฒน์” ระบุว่า ขั้นตอนต่อไปต้องให้สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไปดำเนินการจัดทำประกาศกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมจัดเก็บ รวมถึงกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแล้วนำเสนอต่อที่ประชุม ท.ท.ช. และที่ประชุมครม. ต่อไป หลังครม.อนุมัติก็จะจัดเก็บทันที
“กองทุน” มิติใหม่ท่องเที่ยวไทย
“วิชิต ประกอบโกศล” นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว และมองว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะมีการจัดเก็บและมีกองทุนเพื่อการท่องเที่ยว เนื่องจากเราไม่รู้ว่าในอนาคตข้างหน้าภาคธุรกิจท่องเที่ยวเราจะเจอกับวิกฤตอะไรอีก
